Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมมุสลิม 3 จังหวัด

      วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งแสดงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งไทยและเทศหรือแม้กระทั่งผู้คนในประเทศเดียวกันจึงมีความแตกต่างทางด้านทางวัฒนธรรม                                                                                            จากความหมายดังกล่าวจึงทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดซึ่งกันและกันผ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในขณะเดียวกันมันยังสามารถกำหนดปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง ในสังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกันหากมองในภาพรวมของประเทศไทยในเชิงพื้นที่ก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่หากมองเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบว่าเขาจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีวิถีชีวิตซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในสังคมไทยและสามารถเชื่อมร้อยกับสังคมมลายูมุสลิมในภูมิภาคอาเซี่ยนอีกกว่า สองร้อยล้านคน 
         ดังนั้นผู้เขียนขอกล่าวถึงวิถีวัฒนธรรมของผู้คนมุสลิมไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านประเด็นต่างๆดังนี้
          1.ประชากร  ที่ตั้งภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจท้องถิ่น 
         ประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดกันในบ้าน สัดส่วนประชากรในปี 2546 มีจำนวน ร้อยละ 79.3 หรือ 1.39 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 1.75 ล้านคน  ในขณะที่มีชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท  ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เมื่อรัฐบาลสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2543 พบว่ามีมุสลิมทั่วประเทศไทยอยู่ 2.78 ล้านคน หรือเพียงร้อยละ 4.56 ของประชากรไทยทั้งหมด  ขณะเดียวกันสัดส่วนของพุทธศาสนิกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 26 ในปี 2503 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2546  โดยที่อัตราการขยายตัวของประชากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา  ที่น่าสนใจคือ การที่ประชากรชาวไทยพุทธลดจำนวนลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ผลโดยรวมคือ สัดส่วนประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้น เมื่อดูที่ตั้งภูมิศาสตร์พบว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของมาเลเซียเป็นระยะยาวถึง 573 กิโลเมตร ประชากรทั้งสองประเทศในเขตนี้มีใกล้ชิดกันมาก ความใกล้ชิดในสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการ
ประการแรกปัญหาคนสองสัญชาติซึ่งบางฝ่ายเห็นว่ามีจำนวนร่วมแสนคน  เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นปัญหา
ประการที่สองการอพยพข้ามไปฝั่งมาเลเซีย เช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีคนไทย 131 คนอพยพไปอยู่ในกลันตัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548   ปฏิกิริยาจากมาเลเซีย  โดยผู้ว่าการรัฐกลันตันและผู้นำพรรค อิสลามมาเลเซีย(PAS ) กำหนดท่าทีผู้อพยพจากฝั่งไทยขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง แต่รัฐกลันตัน ถือว่าการอพยพของคนกลุ่มนี้สำคัญมากสำหรับชาวกลันตัน  เพราะญาติพี่น้องของชาวกลันตันจำนวนมากยังติดอยู่ในความขัดแย้งในเขตไทย ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในลักษณะนี้ พลเอก กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาค 4 จึงชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียดังนั้นจะมองมาเลเซียเป็นผู้ร้ายไม่ได้                                                                                                                   สำหรับ เศรษฐกิจท้องถิ่น  ในช่วงระหว่างปี 2541-2546 เศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ และประเทศไทยโดยรวมอย่างมาก หมายความว่าก่อเหตุรุนแรงปะทุหนักในปี 2547 ภาวะเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เข้มแข็งนัก พึ่งพิงภาคเกษตรเป็นหลัก  แม้จะตัดภาคประมง (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภาคอื่นๆ เช่นกัน) ออกไปแล้ว  ภาคเกษตรของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย                                                 ยิ่งเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2541-2546 และพบว่าผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี  ขณะที่ผลผลิตในภาคประมงในช่วงเวลาเดียวกันกลับขยายตัวลดลงในอัตราร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งแสดงว่าปัญหาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลมาจากความตกต่ำในภาคเกษตร 

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังติดอันดับ 1-4 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายได้มากที่สุดของภูมิภาค โดยมีจำนวนรวมสูงถึง 311,500 คน คิดเป็นร้อยละ 47.6 ของคนจนทั้งภูมิภาค  นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันสูง
อาจกล่าวได้ว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจของสามจังหวัดนี้พึ่งพิงภาคเกษตรมากเกินไป ทำให้ต้องมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยรองรับกระบวนการผลิต แต่ทรัพยากรธรรมชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกแรงกดดันอย่างมาก เมื่อภาคที่ใช้แรงงานมากที่สุดถูกแรงกดดันเช่นนี้  ผู้คนที่หาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรก็จะออกไปแสวงหางานหรืออาชีพในภาคอื่นๆ 
แต่กลับเป็นว่า โอกาสมีงานทำของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างน้อย  เป็นเหตุให้แรงงานที่อยู่ในวัย 20-24 ปี ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนว่างงานสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของระบบการศึกษาสามัญ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า  ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้กลุ่มหรือขบวนการของผู้ก่อความไม่สงบสามารถหาแนวร่วมหรือพวกพ้องมาร่วมก่อความรุนแรงได้ง่ายขึ้น
2. ภาษาและความเชื่อ
ผศ.ดร.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต กล่าวว่าความจริงแล้วความเชื่อไม่ใช่ตัวรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบที่แท้จริง ความแตกต่างทางความเชื่อ อันเป็นที่มาของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชนส่วนใหญ่ใน พื้นที่กับภาครัฐได้ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปกครองที่ขาดความเข้าใจในความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี เชื้อชาติ ศาสนาของคนในท้องถิ่นได้นำมาซึ่งปัญหามากมาย นโยบายรัฐนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงครามที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี พ.. 2490 ได้กลายมาเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พอใจ และเป็นสาเหตุหนึ่งของความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจที่มีต่อภาครัฐจนถึง ทุกวันนี้
ภาษามลายู เป็นเครื่องเชื่อมร้อยผู้คนในปัจจุบันเข้ากับอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรปาตานี ยิ่งเมื่อศาสนาอิสลามสามารถครองใจคนส่วนใหญ่แหลมมลายู  ผู้คนในดินแดนนี้ก็นำอักษรอาหรับมาเขียนในระบบภาษามลายู ภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรอาหรับจึงไม่เพียงมีคุณค่าทางการสื่อสาร แต่ยังมีความหมายของความเชื่อและศรัทธาเพราะใช้ในการศึกษาและเผยแผ่ศาสนาอิสลามตลอดจนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆด้วยเหตุนี้ภาษามลายูจึงเป็นดังขุมทรัพย์ทรงค่าทางวัฒนธรรม และเป็นเกียรติภูมิของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในเวลาเดียวกัน  ในทางหนึ่งความเป็นมลายูนี้แตกต่างจากคนมาเลย์ในประเทศมาเลเซีย เพราะขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้  ปาตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามหนึ่งในสองแห่งในอุษาคเนย์ (อีกแห่งหนึ่งคือ อาเจะห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นประตูสู่นครมักกะห์อันศักดิ์สิทธิ์) มากว่า 700 ปีแล้ว เมื่อสามร้อยปีก่อน ปาตตานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู  ตำราทางศาสนาอิสลามทั้งหมดที่เขียนโดยปวงปราชญ์ปัตตานีนั้น ถ้าไม่เป็นภาษาอาหรับก็เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรอาหรับที่เรียกว่าตัวหนังสือยาวีมาว่าจะเป็นชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์หรือ ชัยคฺอะห์มัด                                                                    ผู้คนส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม และเช่นเดียวกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในโลกพวกเขาเป็นสายซุนนะห์(Sunni) อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามเชื่อมผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับชะตากรรมของโลกมุสลิม ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโลกที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมเข้าไว้ด้วย

ในบริบทของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสองประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม  
 2.1 ความเคร่งครัดทางศาสนาของชาวมุสลิม 
ในทางหลักการ ชาวมุสลิมทุกคนทั้งชายหญิงจึงอยู่ในฐานะทั้งเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติตัวตามกรอบของศาสนา 

ศาสนาอิสลามกำหนดวิถีชีวิตของมุสลิมทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ การแต่งกาย และการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ดังนั้นมุสลิมศรัทธาว่าศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิต  ทุกอริยบทในการกระทำ ฟัง พูด อ่าน เขียน และคิดจะใช้หลักการศาสนาเป็นตัวกำหนดและชี้วัด
ศาสนาอิสลามก็ไม่ต่างอะไรจากระบบวัฒนธรรมอื่นๆที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรม ขณะที่วัฒนธรรมในสังคมไทยเป็นแบบแผนทางสังคม แต่แบบแผนพฤติกรรมของชาวมุสลิมเป็นปัญหาทางศาสนาและจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ด้วยเหตุนี้เรื่องซึ่งดูเหมือนเล็กน้อย ก็กลายเป็นปมขยายความขัดแย้งให้เคลื่อนเข้าหาความรุนแรงได้
  2.2 การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
  ทัศนะของชาวมุสลิมต่อความยุติธรรมและการต่อสู้  คำกล่าวว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของสันติภาพดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริงในโลก เมื่อพิจารณาเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางและในที่อื่นๆ ซึ่งต้องเข้าใจปมสำคัญของปัญหานี้ด้วยว่า สำหรับมุสลิมนั้นสันติภาพหมายรวมถึงความยุติธรรมด้วย 
 ศาสนาอิสลามอนุญาตให้ชาวมุสลิมต่อสู้ได้เพื่อปกป้องพิทักษ์สัจจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่ และการละเมิดรุกราน  ต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง และความไม่เป็นธรรมจากน้ำมือของฝ่ายอธรรมซึ่งเรียกว่าการญิฮาด   อย่างน้อยที่สุดก็ด้วยการอพยพหลบหนีไปยังสถานที่อันปลอดภัย ชีวิตของชาวมุสลิมดำรงอยู่ในโลกที่มีอัลลอฮ์เป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง  ต้องพยายามอดทนกับชะตากรรมในฐานะบททดสอบจากพระองค์ และให้พยายามต่อสู้เปลี่ยนแปลงโลกที่ไม่เป็นธรรมให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องตระหนักว่า การต่อสู้เช่นนี้มิใช่เป็นเพียงประเด็นทางการเมือง แต่เป็นภาระทางจิตวิญญาณที่ผู้ศรัทธาต้องหาหนทางให้กับตัวเอง วัฒนธรรมอิสลามมีระบบความหมายที่พร้อมจะให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่แล้ว จากมุมมองของมุสลิมภาวะที่ไร้ความเป็นธรรมจึงเป็นเหตุผลรองรับการต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้าที่ทรงพลังยิ่ง ดังท่านศาสดาได้เคยสอนไว้ความว่า  “การญิฮาดที่ประเสริฐสุดคือการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล”  ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ  เพราะนั่นคือการญิฮาดที่ได้รับกุศลจากพระเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น