Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การแต่งกายของมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สังคมของมุสลิมแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบเฉพาะกลุ่มเช่นรูปแบบการกิน รูปแบบการอยู่ แต่ละกลุ่มของสังคมมุสลิมเองก็จะมีความแตกต่างกันไปตามสถานะ ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิม คล้ายกับการแต่งกายของชาวมาเลเซีย และชาวอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่เหมือนกับสองชาติดังกล่าวเลยทีเดียว อาจจะได้รับอิทธิพลมาบ้างโดยสืบเนื่องมาจากทำเลที่ตั้งมีการติดต่อไปมาค้าขายการแต่งกายของชาวไทยมุสลิม จะมีหลายระดับ ส่วนมากเป็นการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสต่างๆ แต่คงลักษณะเด่นบางอย่างไว้ นั่นคือ ต้องมิดชิด
       ในที่นี้เราจะมาพูดถึงรูปแบบการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งกายที่มีหลากหลายรูปแบบ จะมีสีสันในการแต่งกายให้ออกมาดูแล้วสวยงามและถูกต้องตามหลักอิสลาม จะใส่เสื้อรูปแบบใดก็ตามแต่ที่ผู้หญิงมุสลิมจะขาดไปไม่ได้ก็คือ การคลุมผ้าฮิญาบจะไปที่ไหนๆถ้าเห็นผู้หญิงคลุมผ้าฮิญาบ ก็จะรู้เลยว่าเป็นผู้หญิงมุสลิมเพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงมุสลิม
       เมื่อก่อนผู้หญิงมุสลิมจะใส่ชุดอะไรก็แล้วแต่ส่วนใหญ่จะเน้นสีดำหรือสีพื้นสีจะไม่ฉูดฉาดแต่สมัยนี้เมื่อมีการพัฒนาเกิดขึ้นอะไรๆก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามๆ กัน เวลาจะไปไหนมาไหนก็จะแต่งตัวกันหลากหลาย จะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีสีฉูดฉาด แต่งตัวกันตามกระแสนิยมเช่นจะไปซื้อของ เดินช็อปฯ หรือไปไหนก็แล้วแต่ ที่ไกลจากบ้านก็จะสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเสื้อแฟชั่นต่างๆ และกางเกงหรือบางคนก็จะใส่กระโปรง ใส่ชุดกุรง/มินิสกุรงหรือใส่ชุดอะบายะแล้วแต่สไตล์แต่ที่ขาดไม่ได้คือผ้าคลุมฮิญาบที่มีสีเดียวกับเสื้อเพราะใส่แล้วจะได้ดูเข้ากัน แต่บางกลุ่มคนที่มีความเคร่งครัดก็จะใช้ผ้าปิดหน้าด้วย และถ้าวันสำคัญๆของชาวมุสลิมเช่นวันรายอ วันงานมงคลสมรส ฯลฯ ผู้หญิงมุสลิมก็จะสวมใส่ชุดที่มีความโดดเด่นหน่อยซึ่งมีความอลังการ ส่วนวันธรรมดาอยู่บ้านก็จะใส่เสื้อปกติเช่นเสื้อยืด ผ้าโสร่ง และผ้าคลุมผมผืนยาวๆ เป็นผืนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ต้องใช้เข็มมากลัดอะไรมากนัก ผ้าคลุมฮิญาบของผู้หญิงมุสลิมก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป อยู่ที่คนจะซื้อ ราคาของผ้าคลุมถ้าปักกับจักรต่างๆ ก็จะอยู่ที่ราคาประมาณ 200 บาทขึ้นไปแต่ถ้ามีการใส่เพชรและปักดอกหลายๆสีหรือแบบอลังการก็จะอยู่ที่ราคาหลักพัน
       เดือนรอมฎอนของศาสนาอิสลามถือว่าเป็นเดือนอันประเสริฐของศาสนาอิสลามนอกจากเป็นเดือนที่สร้างบุญกุศลแล้วยังเป็นเดือนที่ผู้หญิงได้มีรายได้กันมากมายเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นช่างรับตัดเย็บเสื้อผ้าและผ้าคลุมฮิญาบ เพราะผู้หญิงมุสลิมพอถึงเดือนรอมฎอนก็จะแห่กันไปตัดเย็บเสื้อผ้าและผ้าคลุมฮิญาบ กันจนถึงขนาดต้องมีการจับจองร้านบ้างเพราะถ้าไม่จองก็จะไม่มีชุดรายอใส่เพราะช่างเค้าก็รับจำนวนจำกัด จากการสอบถามยอดเงินที่ได้จากการตัดเย็บเสื้อผ้าตลอดทั้ง30วันของเดือนรอมฎอนนี้บางบ้านก็จะมีรายได้ถึง 80,000 บาท บางบ้านก็ได้ 100,000 บาทแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าก็แทบจะไม่ได้พักผ่อนกันเลยทีเดียว เพราะเพื่อความสวยงามของลูกค้าจะทำให้ชุดออกมาสวยงามและเพื่อให้ลูกค้าประทับใจก็ต้องทำให้ดีที่สุด
       อย่างไรก็ตามในแต่ละวัฒนธรรม การแต่งกายก็จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ที่ไม่แตกต่างกันก็คือ การแต่งกายให้เหมาะสมกับเวลา สถานที่ วัย และโอกาสต่างๆ ในส่วนของผู้หญิงทุกสังคมและศาสนาก็มีข้อพึงปฏิบัติ คือการแต่งกายให้อยู่ในศีลธรรมไม่ยั่วยุ หรือล่อแหลมต่อการเกิดสิ่งที่ไม่ดีงาม ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบการแต่งกายของผู้หญิงในสังคมซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข

เยาวชน “มุสลิม” กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


กระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและขัดเกลาทางสังคมของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากแรงผลักดัน3 ประการด้วยกันได้แก่1. ความต้องการให้เด็กและเยาวชนสืบทอดวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น2. ความจำเป็นในการอบรมบ่มนิสัยเด็กและเยาวชนให้ดำรงตนอยู่ในครรลองของจริยธรรมอันดีงามตามหลักการศาสนาและ3. ความคาดหวังให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ทางสังคมในฐานะพลเมืองด้วยเหตุนี้ความคาดหวังของสังคมที่จะเห็นเด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นคนดีตามครรลองของศาสนามีภูมิคุ้มกันจากความเสื่อมเสียทางจริยธรรมพร้อมทั้งเป็นพลเมืองที่ตระหนักในบทบาทหน้าที่และปทัสถานของสังคมไทยจึงเป็นสาเหตุให้กระบวนการหล่อหลอมเจตคติและขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับระบบและสถาบันทางสังคมในระดับต่างๆมากมาย
          โดยหลักการอิสลามที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถอธิบายได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ เนื่องจากมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากน้ำมือของมนุษย์ และการทำลายนั้นมีความรวดเร็วและ รุนแรงเกินกว่าระบบธรรมชาติจะฟื้นฟูด้วยตนเอง ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการรณรงค์ให้ทุกคนใน สังคมช่วยกันอนุรักษ์และมีจิตสำนึกอย่างจริงจังก่อนที่จะส่งผลกระทบเลวร้ายกว่านี้ โดยในทัศนะของอิสลาม มนุษย์คือผู้แทนของพระเจ้าซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการโลกนี้ให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์ มนุษย์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จรรโลงสังคมสู่การพัฒนาและความเจริญ (มัสมัน มาหะมะ, 2552) ถึงแม้มนุษย์ จะมีสติปัญญาและ สามัญสำนึกในการกระทำความดี แต่บางครั้งมนุษย์ก็ถูกชักจูงโดยอารมณ์ ใฝ่ต่ำ และความต้องการที่ไม่มีที่ สิ้นสุด เป็นเหตุให้มนุษย์ยอมทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฏกติกาที่สามารถโน้มน้าวมนุษย์ ให้รู้จักการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างกลมกลืนและยั่งยืน
อิสลามจึงเป็นกฎกติกาสากลที่วางกรอบให้มนุษย์สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมผ่านบริบทต่าง ๆ คือ
1.อิสลามได้จุดประกายให้มนุษย์รับทราบรากเหง้าของตนเองและรับรู้ภารกิจหลักของตนเอง ที่กำเนิดบนโลกใบนี้เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะวางก้ามแสดงอำนาจตามอำเภอใจและสร้างความเดือดร้อนแก่สิ่งรอบข้างแม้กระทั่งตัวเอง
2.การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่หลักของมุสลิม โดยความรู้ที่ถูกต้องและสติปัญญา อันบริสุทธ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์รู้จักร่วมใช้ชีวิตกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อ่อนน้อมถ่อมตนและมีความพอเพียงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการสันติภาพอันแท้จริง
3.มนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการคือสรีระร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อป้องกันไม่เกิด การแยกส่วน อิสลามจึงให้ความสำคัญแก่มนุษย์ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบดังกล่าวด้วยมุมมองที่สมดุล และยุติธรรม อิสลามจึงให้ความสำคัญในการรักษาความสมดุลสิ่งแวดล้อมในร่างกายมนุษย์
4.อิสลามสอนว่า มนุษย์คือส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถปลีกตัวออกจากกันได้ อิสลามจึงห้ามไม่ให้มีการรุกรานหรือสร้าง ความเดือดร้อนแก่มนุษย์ด้วยกัน ทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการรักษาและอนุรักษ์ไว้
5.การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมด้านสังคมและสุขภาพ อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์กระทำคุณงามความดีและสร้าง คุณประโยชน์แก่สังคมอิสลามห้ามมิให้สร้างสิ่งปฏิกูลในน้ำทั้งน้ำนิ่งหรือน้ำไหล 6.อิสลามกำชับให้มุสลิม ทุกคนมีจิตใจที่อ่อนโยน ให้เกียรติทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์ อิสลามจึงห้ามการทรมานสัตว์ และการฆ่าสัตว์โดยเปล่าประโยชน์ 7.อิสลามประณามการใช้ชีวิตที่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ
สะท้อนให้เห็นว่าอิสลามได้กำหนดว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้น พระเจ้าทรงประทานมาเพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง ทุกคนจึงมีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์จากมันให้นานที่สุด เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ใช้เหมือนกับเรา ดังนั้นมุสลิมทุกคนจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องทำหน้าที่ในการรักษาความสมดุลของธรรมชาติที่พระเจ้าประทานลงมาให้ และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผู้ก่อมลพิษ โดยทุกคนสามารถที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องเริ่มต้นปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะที่มีต่อการอนุรักษ์ตั้งแต่เยาวว์วัย เพื่อให้พวกเขาพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไปฉะนั้นคำสอนของอิสลามจึงก้าวข้ามไปยังการจัดระเบียบให้มนุษย์รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องรับผิดชอบและร่วมมือกันปกป้องอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์ที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ โดยภารกิจหลักของมุสลิมคือการเอื้ออำนวยให้เกิดระบบและกระบวนการสันติสุขบนโลกนี้ที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริงนั่นเอง

อาหาร เอกลักษณ์ ของมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“อาหาร เอกลักษณ์ ของมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
             ไก่กอและ หรือ ไก่ฆอและ เป็นอาหารมลายูปักษ์ใต้และมาเลเซีย เมนูนี้เป็นอาหารที่ชาวมุสลิมแถบชายแดนใต้ของไทยทำรับประทานกัน โดยเฉพาะที่ปัตตานีจะมีชื่อเสียงมาก บางแห่งจะทำไก่ฆอและขายคู่กับข้าวหลามด้วย ไก่กอและในภาษามลายูปาตานีจะ อ่านว่า "อาแยฆอและ" (Ayam Golek) คำว่า อาแย (Ayam) แปลว่าไก่ ฆอและ (Golek) แปลว่า กลิ้ง อาแยฆอและ จึงแปลว่า ไก่กลิ้ง ก็น่าจะหมายถึงการย่างเพราะต้องคอยพลิกกลับไปมา นอกจากจะใช้ไก่ทำแล้ว ยังสามารถใช้เนื้อสัตว์อื่น ๆ ทำได้ ถ้าใช้หอยแครงสดทำ เรียกว่า "กือเปาะห์ฆอและ" ใช้ปลาทำ เรียกว่า "อีแกฆอและ" ถ้าใช้เนื้อทำ เรียกว่า "ดาฆิงฆอและ"
              แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน แกงมัสมั่น แบบชาวมุสลิมปักษ์ใต้ ต่างจากการปรุงแกงมัสมั่นของชาวไทยภาคกลางคือ จะไม่ทำเป็นน้ำพริกแกงมัสมั่น แต่จะผสมลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกป่นอินเดียและพริกไทยป่นไว้เป็นผงเครื่องแกง จากนั้นจึงนำลงไปผัดกับน้ำมันที่เจียวหัวหอมแล้ว ส่วนแกงมัสมั่นแบบมลายู-ชวา จะใส่กานพลู อบเชย ลงไปผัดกับน้ำมันและหอมแดงจนหอม แล้วจึงใส่พริกป่นอินเดีย ลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกไทยป่นลงไปผัดให้เข้ากัน นอกจากนั้นยังใส่มะพร้าวคั่ว ผงขมิ้น ดอกไม้จีนและหน่อไม้จีนด้วย
               โรตีมะตะบะ เป็นอาหารขึ้นชื่อที่อยู่คู่กับชาวมุสลิม ใช้แป้งโรตีห่อไส้ไว้ภายในจะเป็นเนื้อวัว หรือเนื้อไก่ ผสมเครื่องเทศรสหอมหวานกลมกล่อม หากมองให้ดีก็จะคล้ายกับไข่ยัดไส้ เมื่อทอดเสร็จแล้วจะทานคู่กับอาจาด โรตีน้ำแกง จะเป็นแป้งโรตีธรรมดาหรือโรตีใส่ไข่ แต่ไม่ต้องใส่นมและน้ำตาล นำมาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำรับประทานกับน้ำแกง โรตีกล้วยหอม แบบนี้หลาย ๆ คนอาจจะเคยทานกันบ้างแล้ว คือ โรตีทอด โดยมีเนื้อของกล้วยหอมฝานผสมแล้วหั่นเป็นชิ้น ๆ รสชาติ จะหวานหอม แต่ไม่เลี่ยนจนเกินไป อีกแบบหนึ่งก็ คือ โรตีธรรมดาใส่ นมน้ำตาล แต่จะต่างจากที่เราทานแห่งอื่น ๆ ก็คือ โรตีส่วนใหญ่จะไม่ทอดจนกรอบ นิยมทอดแบบหนานุ่มมากกว่า

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขนบธรรมเนียมประเพณีของอินโดนีเซียที่มีอิทธิพลต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม  ประชากรอินโดนีเซียประกอบด้วย หลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีมรดกทางวัฒนธรรม และลักษณะทางสังคมของตนสืบทอดกันมา ชนเหล่านี้เมื่อถูกรวมกันเข้าภายใต้ระบบการเมือง เศรษฐกิจและการป้องกันประเทศร่วมกัน

จากการที่สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซีย มีลักษณะแยกกันเป็นหมู่เกาะมากมาย และมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรติดต่อกันได้ยาก ทำให้แต่ละภูมิภาคมีรูปแบบวัฒนธรรมของตนเอง จึงปรากฎลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาที่ใช้ผิดแผก แตกต่างกันไป
ขนบธรรมเนียมประเพณี  ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่มชน ชาวชนบทที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ยังยึดมั่นอยู่กับประเพณีเดิมอยู่มาก ส่วนกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง และได้รับการศึกษาแบบตะวันตก จะมีวิถีชีวิตแตกต่างกันออกไป การแบ่งกลุ่มชนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และพื้นที่ตั้ง สามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
  • กลุ่มแรก  เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเกาะชวา และบาหลี ผู้คนที่อยู่ในแถบนี้จะยึดมั่นอยู่ในแนวทางของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมเน้นหนักในเรื่องคุณค่าของจิตใจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาศิลปอย่างมากมาย โดยเฉพาะนาฎศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชากรจะประพฤติตามหลักจริยธรรม มีการเคารพต่อบุคคลตามฐานะของบุคคลนั้น ๆ
  • กลุ่มที่สอง  เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณริมฝั่งทะเลของเกาะต่าง ๆ ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบการค้าขาย มีชีวิตทางวัฒนธรรมตามหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และเป็นนักธุรกิจของสังคมอินโดนีเซียยุคใหม่ และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา และกฎหมาย
  • กลุ่มที่สาม  เป็นกลุ่มที่มีความล้าหลังมาก อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาในส่วนลึกของประเทศ ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ และการเพาะปลูก รัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนกลุ่มนี้แล้ว
ในประเทศอินโดนีเซีย มีการกำหนดกฎหมายประเพณีในสังคม ตามความเชื่อในศาสนาซึ่งจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด และสืบทอดกันมานานแล้ว มีสาระที่สำคัญคือ ความผูกพันระหว่างสามีกับภรรยา พ่อแม่กับลูก และพลเมืองต่อสังคมที่ตนอยู่ โดยยึดหลักการปฎิบัติที่เรียกเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า โกตองโรยอง คือการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันในงานต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแต่งงาน การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดินร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงและข้อแม้พิเศษ
การแต่งกาย
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การแต่งกายจึงโน้มน้าวไปตามประเพณีของศาสนา
  • ผู้ชาย  จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอปิด แขนยาว สวมหมวกรูปกลม หรือหมวกหนีบ ทำด้วยสักหลาดสีดำ บางครั้งจะนุ่งโสร่งทับกางเกง ประมาณครึ่งตัว โดยปล่อยให้เห็นขากางเกง ในกรณีที่ต้องเข้าพิธี อาจจะมีการเหน็บกริชด้วย ปัจจุบันผู้ชายอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยม แต่งกายแบบสากล แต่ยังคงสวมหมวกแบบเดิม
  • ผู้หญิง  จะใช้ผ้าไคน์ พันรอบตัว และใช้นุ่งอยู่กับบ้านเท่านั้น ผ้าไคน์จะมีลวดลายสวยงามมาก เนื้อดีและราคาแพง ซึ่งเป็นที่นิยมเรียกกันอีกชื่อว่า ผ้าปาติค (Patik) เวลานุ่งจะต้องให้ยาวกรอมเท้า สวมเสื้อ เรียกว่า เคบาจา (Kebaja) เป็นเสื้อที่รัดติดกับตัว แขนยาว สำหรับผู้หญิงชาวเกาะสุมาตรา นิยมสวมเสื้อหลวม ลำตัวยาวเกือบถึงเข่า เรียกว่า บัตยูกรุง และใช้ผ้าห่มพาดไหล่ข้างหนึ่งด้วย ผู้หญิงอินโดนีเซียไว้ผมยาว แล้วเกล้าเป็นมวย และใช้เครื่องประดับ เช่น พลอย หรือดอกไม้ประดับศีรษะ รองเท้าที่ใช้เดิมเป็นรองเท้าแตะ แต่ปัจจุบันเป็นรองเท้ามีส้น และทาสี แกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ สายคาดทำด้วยหนังทาสีเงิน หรือสีทอง สตรีที่นับถือศาสนาอิสลามจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ แต่ไม่ปิดหน้า ปัจจุบันนิยมแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น การแต่งกายแบบดังกล่าว จะใช้ในโอกาสพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น
ศิลปและวรรณคดี
ชาวอินเดียเป็นผู้รักศิลป และวรรณคดีมาช้านานแล้ว สังเกตได้จากลวดลายของเครื่องแต่งกาย บ้านที่พักอาศัย ศาสนสถาน และนาฎศิลป์ต่าง ๆ ศิลปในประเทศอินโดนีเซีย มิได้ยึดถือตามที่สืบทอดกันมาแต่ในอดีตเท่านั้น แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างได้พัฒนาเปลี่ยนไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย ที่มีอิทธิพลต่อประเทศอินโดนีเซีย ในขณะนั้น
ศิลปกรรมการปั้น และการแกะสลัก  การทำงานแบบธรรมชาติ โดยใช้ฝีมืออย่างแท้จริง ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบแกะสลักไม้ แกะสลักวัตถุโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และงานแกะสลักหินเป็นรูปต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมฮินดู เพราะศาสนาพราหมณ์ฮินดู เคยเข้ามามีอิทธิพลในอินโดนีเซีย นักแกะสลักที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวบาหลี
สถาปัตยกรรม
มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศและอิทธิพลของศาสนา แต่ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับประเทศต่าง ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อาคารบ้านเรือนของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ส่วนเทวสถานบางแห่ง เช่น สถูปโบโรพุทโธ ซึ่งมีชื่อเสียงมากได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดู
นาฏศิลป์ 
มีรูปแบบแตกต่างกันไปเป็นสองลักษณะ เนื่องจากในอดีตอินโดนีเซียถูกฮอลันดาบีบบังคับให้แบ่งอาณาจักร Matanam ออกเป็นสองส่วนคืออาณาจักรสมาการ์ตา (Sumakarta) และอาณาจักรยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) จึงทำให้นาฏศิลป์ชวามีรูปแบบแตกต่างกันออกไปดังกล่าว
  • แบบสมาการ์ตา (Samakarta)  การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพาดบ่า ท่วงทำนองของวงมโหรีจะนุ่มนวลราบเรียบ มีเส้นแบ่งจังหวะน้อย
  • แบบยอกยาการ์ตา (Yogyakarta)  การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพันเอว ท่วงทำนองของวงมโหรีจะมีเสียงไม่นุ่มนวล เพราะมีเส้นแบ่งจังหวะมาก
ถึงแม้นาฏศิลป์ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม แต่ก็สะท้อนปรัชญาของชวาจากท่าทาง การเคลื่อนไหวมือ - แขน แม้กระทั่งการแสดงออกทางสีหน้า เช่น ตัวละครที่แสดงเป็นธรรมะจะหลบตาลงต่ำเสมอ และจะร่ายรำด้วยลีลาอ่อนช้อย ผสมกลมกลืนอย่างสง่างาม แสดงถึงจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์ ในทางตรงกันข้าม ตัวละครที่แสดงเป็นอธรรม หรือชั่วร้ายจะแสดง ลักษณะท่วงท่าวางอำนาจ กลอกตาแข็งกร้าว แสดงถึงจิตใจชั่วร้ายหยาบคาย ปรัชญาของชวามุ่งใฝ่สันติความสงบสุข สุภาพ ถ่อมตัวในการติดต่อกับผู้อื่น เช่นเดียวกับตัวละครที่แสดงเป็นฝ่ายธรรมะ
ดนตรี
ในสมัยโบราณ อินโดนีเซียมีวงดนตรีพื้นเมืองมีชื่อเสียงมากเรียกว่า ตมิลาน ประกอบด้วย เครื่องดนตรีคล้ายระนาด กลอง ฆ้อง ซอสองสาย และขลุ่ย ซึ่งนอกจากเป็นดนตรีประจำราชสำนักของสุลต่านต่าง ๆ บนเกาะชวาแล้ว ดนตรีดังกล่าวยังทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วย แต่ปัจจุบันวงดนตรีตมิลานได้กลายเป็นวงดนตรีสำหรับการฟ้อนรำ การแสดงนาฏศิลป์ และการแสดงหนังตะลุง นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีวงดนตรีอังกะลุงด้วย

ศิลปะการแสดง
การมหรสพของอินโดนีเซียได้แก่ ละครและภาพยนตร์ เค้าโครงเรื่องของละครที่นำมาแสดงส่วนใหญ่คือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเทพนิยายในศาสนาฮินดู ตัวละครจะแต่งกายด้วยผ้าปาติก ไม่สวมเสื้อชั้นนอก ใช้สีทาตัวเป็นสีต่าง ๆ ประดับด้วยสร้อยสังวาลย์ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีการละเล่นอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า วายัง หรือหนังตะลุง เป็นที่นิยมกันมาก เค้าโครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นนิยายเกี่ยวกับเรื่องสงครามในศาสนาฮินดู
วรรณคดี
ในสมัยที่ศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาได้เข้าไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย วรรณคดีของอินโดนีเซียมีความเจริญอย่างรวดเร็ว หนังสือที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นได้แก่เรื่องเนการาเกอร์ตากามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ และอำนาจของอาณาจักรมัดยาปาหิต นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปาราราตัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อินโดนีเซียในสมัยนั้น เขียนเป็นภาษาชวาโบราณ
ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย ก็ได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอิสลาม และตำราหมอดูไว้หลายเล่ม โดยเขียนเป็นภาษาชวา

เกร็ดความรู้และวัฒนธรรมประเทศมาเลเซียที่มี่อิทธิพลต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆของมาเลเซีย 

          หลายคนคงรู้จักการละหมาด   ซึ่งประเทศมาเลเซียนั้นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในประเทศ โดยมีมากถึง 55%   การ ละหมาด เป็นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม เพื่อเป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺ   มุสลิมทุกคนจะต้องละหมาด วันละ 5 เวลา เรียกว่า ละหมาดฟัรฎู ละหมาด หมายถึง การขอพร ความหมายทางศาสนาหมายถึง การกล่าวและการกระทำ   ซึ่งเริ่มต้นด้วยตักบีร และ จบลงด้วยสะลาม การละหมาดเป็นการสร้างเอกภาพอย่างหนึ่งของมุสลิม   เมื่อละหมาดมุสลิมทั่วโลก หันหน้าไปทางกิบละฮฺ เพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ การละหมาด ฝึกฝนให้เป็นคนตรงต่อเวลา มีความอดทน และขัดเกลาจิตใจ ให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่ประพฤติสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางชั่วร้าย มีสภาพคล้ายคลึงกับประเทศอินโดนีเซีย ชึ่งเป็นหมู่เกาะอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้แพร่เข้ามาในแหลมมลายู ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 55% นับถือศาสนาพุทธ 25% นับถือศาสนาคริสต์ 13% นับถือศาสนาฮินดู 7% และลัทธิศาสนาพื้นเมือง 4% แต่การหันไปนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลามเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากทาง ภาครัฐจะไม่เปลี่ยนข้อมูลทางราชการให้ มาเลเซียบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีสิทธิพิเศษ คือ ได้รับเงินอุดหนุนทางด้านการศึกษา สาธารณะสุข การคลอดบุตร งานแต่งงานและงานศพตามนโยบาย "ภูมิบุตร.

ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวมลายู 
          ประเทศ มาเลเซียเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ประกอบขึ้นด้วยหลากหลายชาติพันธุ์   ประเทศมาเลเซียมีดินแดนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นรัฐต่างๆจำนวน 11 รัฐตั้งอยู่บนแหลมมลายู   อีกส่วนหนึ่งมี 2 รัฐตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว   ทั้งสองส่วนนี้มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รัฐที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูประกอบด้วยชาติพันธุ์ใหญ่ๆจำนวน 3 ชาติพันธุ์ คือ มลายู จีน และอินเดีย ส่วนรัฐที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว มีจำนวนชาติพันธุ์หลายสิบชนเผ่า
          ในที่นี้ขอกล่าวถึงชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย มีขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ 2 แบบ คือ
          1. ชาวมลายูที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบ Adat Temenggong  เป็น ขนบธรรมเนียมที่ยึดถือในรัฐส่วนใหญ่ของแหลมมลายู ยกเว้นรัฐนัครีซัมบีลัน ว่ากันว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือมาตั้งแต่ยุคแรกรัฐมะละกาจนขยาย ไปยังรัฐต่างๆในแหลมมลายู ขนบธรรมเนียมนี้จัดตั้งขึ้นโดย Datuk Ketemenggungan จากเกาะสุมาตรา จากการที่ขนบธรรมเนียมประเพณี Adat Temenggong มีการผสมผสานกับขนบธรรมเนียมเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงได้เกิดเป็นกฎหมายมีชขื่อแตกต่างกัน เช่น กฎหมายมะละกา (Undang-Undang Melaka) กฎหมายโยโฮร์(Undang-Undang Johor) และกฎหมายเคดะห์ (Undang-Undang Kedah)

หลักการของขนบธรรมเนียมประเพณี Adat Temenggong  
          •  การลงโทษถือเป็นสิ่งที่ได้รับการตอบแทน
          •  การปกครองต้องใช้อำนาจเด็ดขาด
          •  การสืบมรดกถือหลักการตามบิดา (Patriline)
           •  การแต่งงานนั้นจะแต่งงานกับผู้ใดก็ได้ ถ้าไม่ผิดตามหลักการศาสนาอิสลาม (hukum syarak)

           2. ชาวมลายูที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบ Adat Minangkabau หรือ Adat Perpatih เป็น ขนบธรรมเนียมที่ยึดถือในรัฐนัครีซัมบีลัน และบางส่วนของรัฐมัละกา ผู้สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีนี้คือ Datuk Nan Sebatang ซึ่งเป็นพี่น้องของ Datuk Ketumanggungan ผู้สร้างขนบธรรมเนียมประเพณี Adat Temenggong

การแต่งกายมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นชื่อใหม่ (เมื่อ ค.ศ. 1963) ของประเทศมาลายู เมืองหลวง คือ กัวลาลัมเปอร์ สหพันธ์มาเลเซียเป็นดินแดนที่มีชนหลายภาษาอาศัยรวมกัน เช่น มลายูแท้ จีน อินเดีย ปากีสถาน ยูเรเซียน ลังกา อินโดนีเซีย และชาวเขา

การทอผ้าในมาเลเซียมีมากแถบกลันตัน และตรังกานู ซึ่งเป็นผ้าที่ทอโดยสอดไหมเงิน และทองลงในเนื้อไหมตามแบบผ้าทอในอินเดีย พวกช่างทอผ้าในมาเลเซียเป็นพวกที่อพยพมา จากเกาะสุมาตรา

การแต่งกาย แตกต่างกันตามประเพณีนิยมของแต่ละเชื้อชาติ

ผู้หญิง นุ่งโสร่งปาเต๊ะสีสดมีลวดลายดอกดวงงาม สวมเสื้อคอยูแขนยาวถึงข้อมือ ปล่อยชายเสื้อไว้นอกโสร่ง บางคนจะมีผ้าบาง ๆ คลุมศีรษะ คลุมไหล่ ชาวมาลายูชอบใช้เสื้อผ้า สีสดใสมีลวดลาย ใบไม้ดอกไม้โต ๆ สลับสีกัน ชาวจีนแต่งกายแบบจีนเรียกว่า “กี่เพ้า” หรือ “ฉ่งชำ” ทำด้วยผ้าเป็นดอกดวง ฉูดฉาด

ชาย นุ่งโสร่งเป็นตา และสวมเสื้อแขนยาว บางคนสวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ คนแก่มัก มีผ้าห้อยไหล่


วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมมุสลิม 3 จังหวัด

      วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งแสดงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งไทยและเทศหรือแม้กระทั่งผู้คนในประเทศเดียวกันจึงมีความแตกต่างทางด้านทางวัฒนธรรม                                                                                            จากความหมายดังกล่าวจึงทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดซึ่งกันและกันผ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในขณะเดียวกันมันยังสามารถกำหนดปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง ในสังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกันหากมองในภาพรวมของประเทศไทยในเชิงพื้นที่ก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่หากมองเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบว่าเขาจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีวิถีชีวิตซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในสังคมไทยและสามารถเชื่อมร้อยกับสังคมมลายูมุสลิมในภูมิภาคอาเซี่ยนอีกกว่า สองร้อยล้านคน 
         ดังนั้นผู้เขียนขอกล่าวถึงวิถีวัฒนธรรมของผู้คนมุสลิมไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านประเด็นต่างๆดังนี้
          1.ประชากร  ที่ตั้งภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจท้องถิ่น 
         ประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดกันในบ้าน สัดส่วนประชากรในปี 2546 มีจำนวน ร้อยละ 79.3 หรือ 1.39 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 1.75 ล้านคน  ในขณะที่มีชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท  ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เมื่อรัฐบาลสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2543 พบว่ามีมุสลิมทั่วประเทศไทยอยู่ 2.78 ล้านคน หรือเพียงร้อยละ 4.56 ของประชากรไทยทั้งหมด  ขณะเดียวกันสัดส่วนของพุทธศาสนิกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 26 ในปี 2503 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2546  โดยที่อัตราการขยายตัวของประชากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา  ที่น่าสนใจคือ การที่ประชากรชาวไทยพุทธลดจำนวนลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ผลโดยรวมคือ สัดส่วนประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้น เมื่อดูที่ตั้งภูมิศาสตร์พบว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของมาเลเซียเป็นระยะยาวถึง 573 กิโลเมตร ประชากรทั้งสองประเทศในเขตนี้มีใกล้ชิดกันมาก ความใกล้ชิดในสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการ
ประการแรกปัญหาคนสองสัญชาติซึ่งบางฝ่ายเห็นว่ามีจำนวนร่วมแสนคน  เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นปัญหา
ประการที่สองการอพยพข้ามไปฝั่งมาเลเซีย เช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีคนไทย 131 คนอพยพไปอยู่ในกลันตัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548   ปฏิกิริยาจากมาเลเซีย  โดยผู้ว่าการรัฐกลันตันและผู้นำพรรค อิสลามมาเลเซีย(PAS ) กำหนดท่าทีผู้อพยพจากฝั่งไทยขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง แต่รัฐกลันตัน ถือว่าการอพยพของคนกลุ่มนี้สำคัญมากสำหรับชาวกลันตัน  เพราะญาติพี่น้องของชาวกลันตันจำนวนมากยังติดอยู่ในความขัดแย้งในเขตไทย ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในลักษณะนี้ พลเอก กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาค 4 จึงชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียดังนั้นจะมองมาเลเซียเป็นผู้ร้ายไม่ได้                                                                                                                   สำหรับ เศรษฐกิจท้องถิ่น  ในช่วงระหว่างปี 2541-2546 เศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ และประเทศไทยโดยรวมอย่างมาก หมายความว่าก่อเหตุรุนแรงปะทุหนักในปี 2547 ภาวะเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เข้มแข็งนัก พึ่งพิงภาคเกษตรเป็นหลัก  แม้จะตัดภาคประมง (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภาคอื่นๆ เช่นกัน) ออกไปแล้ว  ภาคเกษตรของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย                                                 ยิ่งเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2541-2546 และพบว่าผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี  ขณะที่ผลผลิตในภาคประมงในช่วงเวลาเดียวกันกลับขยายตัวลดลงในอัตราร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งแสดงว่าปัญหาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลมาจากความตกต่ำในภาคเกษตร 

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังติดอันดับ 1-4 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายได้มากที่สุดของภูมิภาค โดยมีจำนวนรวมสูงถึง 311,500 คน คิดเป็นร้อยละ 47.6 ของคนจนทั้งภูมิภาค  นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันสูง
อาจกล่าวได้ว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจของสามจังหวัดนี้พึ่งพิงภาคเกษตรมากเกินไป ทำให้ต้องมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยรองรับกระบวนการผลิต แต่ทรัพยากรธรรมชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกแรงกดดันอย่างมาก เมื่อภาคที่ใช้แรงงานมากที่สุดถูกแรงกดดันเช่นนี้  ผู้คนที่หาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรก็จะออกไปแสวงหางานหรืออาชีพในภาคอื่นๆ 
แต่กลับเป็นว่า โอกาสมีงานทำของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างน้อย  เป็นเหตุให้แรงงานที่อยู่ในวัย 20-24 ปี ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนว่างงานสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของระบบการศึกษาสามัญ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า  ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้กลุ่มหรือขบวนการของผู้ก่อความไม่สงบสามารถหาแนวร่วมหรือพวกพ้องมาร่วมก่อความรุนแรงได้ง่ายขึ้น
2. ภาษาและความเชื่อ
ผศ.ดร.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต กล่าวว่าความจริงแล้วความเชื่อไม่ใช่ตัวรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบที่แท้จริง ความแตกต่างทางความเชื่อ อันเป็นที่มาของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชนส่วนใหญ่ใน พื้นที่กับภาครัฐได้ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปกครองที่ขาดความเข้าใจในความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี เชื้อชาติ ศาสนาของคนในท้องถิ่นได้นำมาซึ่งปัญหามากมาย นโยบายรัฐนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงครามที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี พ.. 2490 ได้กลายมาเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พอใจ และเป็นสาเหตุหนึ่งของความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจที่มีต่อภาครัฐจนถึง ทุกวันนี้
ภาษามลายู เป็นเครื่องเชื่อมร้อยผู้คนในปัจจุบันเข้ากับอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรปาตานี ยิ่งเมื่อศาสนาอิสลามสามารถครองใจคนส่วนใหญ่แหลมมลายู  ผู้คนในดินแดนนี้ก็นำอักษรอาหรับมาเขียนในระบบภาษามลายู ภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรอาหรับจึงไม่เพียงมีคุณค่าทางการสื่อสาร แต่ยังมีความหมายของความเชื่อและศรัทธาเพราะใช้ในการศึกษาและเผยแผ่ศาสนาอิสลามตลอดจนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆด้วยเหตุนี้ภาษามลายูจึงเป็นดังขุมทรัพย์ทรงค่าทางวัฒนธรรม และเป็นเกียรติภูมิของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในเวลาเดียวกัน  ในทางหนึ่งความเป็นมลายูนี้แตกต่างจากคนมาเลย์ในประเทศมาเลเซีย เพราะขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้  ปาตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามหนึ่งในสองแห่งในอุษาคเนย์ (อีกแห่งหนึ่งคือ อาเจะห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นประตูสู่นครมักกะห์อันศักดิ์สิทธิ์) มากว่า 700 ปีแล้ว เมื่อสามร้อยปีก่อน ปาตตานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู  ตำราทางศาสนาอิสลามทั้งหมดที่เขียนโดยปวงปราชญ์ปัตตานีนั้น ถ้าไม่เป็นภาษาอาหรับก็เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรอาหรับที่เรียกว่าตัวหนังสือยาวีมาว่าจะเป็นชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์หรือ ชัยคฺอะห์มัด                                                                    ผู้คนส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม และเช่นเดียวกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในโลกพวกเขาเป็นสายซุนนะห์(Sunni) อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามเชื่อมผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับชะตากรรมของโลกมุสลิม ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโลกที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมเข้าไว้ด้วย

ในบริบทของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสองประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม  
 2.1 ความเคร่งครัดทางศาสนาของชาวมุสลิม 
ในทางหลักการ ชาวมุสลิมทุกคนทั้งชายหญิงจึงอยู่ในฐานะทั้งเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติตัวตามกรอบของศาสนา 

ศาสนาอิสลามกำหนดวิถีชีวิตของมุสลิมทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ การแต่งกาย และการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ดังนั้นมุสลิมศรัทธาว่าศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิต  ทุกอริยบทในการกระทำ ฟัง พูด อ่าน เขียน และคิดจะใช้หลักการศาสนาเป็นตัวกำหนดและชี้วัด
ศาสนาอิสลามก็ไม่ต่างอะไรจากระบบวัฒนธรรมอื่นๆที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรม ขณะที่วัฒนธรรมในสังคมไทยเป็นแบบแผนทางสังคม แต่แบบแผนพฤติกรรมของชาวมุสลิมเป็นปัญหาทางศาสนาและจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ด้วยเหตุนี้เรื่องซึ่งดูเหมือนเล็กน้อย ก็กลายเป็นปมขยายความขัดแย้งให้เคลื่อนเข้าหาความรุนแรงได้
  2.2 การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
  ทัศนะของชาวมุสลิมต่อความยุติธรรมและการต่อสู้  คำกล่าวว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของสันติภาพดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริงในโลก เมื่อพิจารณาเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางและในที่อื่นๆ ซึ่งต้องเข้าใจปมสำคัญของปัญหานี้ด้วยว่า สำหรับมุสลิมนั้นสันติภาพหมายรวมถึงความยุติธรรมด้วย 
 ศาสนาอิสลามอนุญาตให้ชาวมุสลิมต่อสู้ได้เพื่อปกป้องพิทักษ์สัจจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่ และการละเมิดรุกราน  ต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง และความไม่เป็นธรรมจากน้ำมือของฝ่ายอธรรมซึ่งเรียกว่าการญิฮาด   อย่างน้อยที่สุดก็ด้วยการอพยพหลบหนีไปยังสถานที่อันปลอดภัย ชีวิตของชาวมุสลิมดำรงอยู่ในโลกที่มีอัลลอฮ์เป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง  ต้องพยายามอดทนกับชะตากรรมในฐานะบททดสอบจากพระองค์ และให้พยายามต่อสู้เปลี่ยนแปลงโลกที่ไม่เป็นธรรมให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องตระหนักว่า การต่อสู้เช่นนี้มิใช่เป็นเพียงประเด็นทางการเมือง แต่เป็นภาระทางจิตวิญญาณที่ผู้ศรัทธาต้องหาหนทางให้กับตัวเอง วัฒนธรรมอิสลามมีระบบความหมายที่พร้อมจะให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่แล้ว จากมุมมองของมุสลิมภาวะที่ไร้ความเป็นธรรมจึงเป็นเหตุผลรองรับการต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้าที่ทรงพลังยิ่ง ดังท่านศาสดาได้เคยสอนไว้ความว่า  “การญิฮาดที่ประเสริฐสุดคือการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล”  ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ  เพราะนั่นคือการญิฮาดที่ได้รับกุศลจากพระเจ้า